วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข้าวฟืน

อาหารชนิดนี้เคยได้ยินแต่ชื่อมานาน ทราบแต่เพียงว่าเป็นอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของชาวไทใหญ่, ไทลื้อ, ไทขึน และไทอื่นๆ ตั้งแต่บริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย เลยไปรัฐฉานของพม่า ไปจนถึงตลาดเมืองเจงฮุ่ง แคว้นยูนนาน ประเทศจีน

โดยส่วนตัวก็ได้เดินทางไปทางภาคเหนือของไทยก็หลายครั้งแต่ไม่เคยเห็นที่ไหนมีขายข้าวฟืน กลับมาได้ทดลองชิมให้หายสงสัยก็ที่กรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งแปลกใจมากว่าร้านนี้ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ในซอยเพชรบุรี 5 (ซอยวิทยาลัยครูเพชรบุรี) ถนนเพชรบุรี เป็นร้านที่ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการแต่ขึ้นป้ายว่ามีข้าวฟืนขายด้วย

เข้าไปในร้านแล้วก็สั่งข้าวฟืนมาลองชิมสักหนึ่งชาม แต่ทางเจ้าของร้านก็ถามคำถามกลับมาแต่ฟังยังไม่เข้าใจ ด้วยที่เจ้าของร้านมีลักษณะเหมือนคนจีนทางภาคเหนือเวลาพูดภาษาไทยสำเนียงอาจจะไม่ค่อยชัด เลยต้องไปชี้ที่ป้ายเมนูอาหารที่ติดอยู่ข้างฝาร้านดีกว่า จะได้เข้าใจตรงกัน

รอไม่ถึงหนึ่งนาที “ข้าวฟืนร้อน” ก็มาวางตรงหน้าเร็วเหมือนอาหารจานด่วน จากการตรวจสอบทางกายภาพด้วยสายตาแล้ว ข้าวฟืนมีลักษณะเหมือนแป้งเปียกสีเหลืองมีความข้นหนืด รองก้นชามด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ไม่มีเนื้อสัตว์ใดๆ เจือปน ส่วนเครื่องปรุงโรยหน้าก็เห็นจะมีเพียงแต่กระเทียมเจียว, ถั่วป่น และผักชี เท่านั้น

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการชิมก็ต้องปรุงรสซะก่อนด้วยเครื่องปรุงเหมือนของก๋วยเตี๋ยวทั่วไป แต่พริกป่นจะเป็นแบบเอาไปทอดกับน้ำมันก่อน เวลาใส่ลงไปในข้าวฟืนทำให้ตัวข้าวฟืนมีสีแดงเข้ม ลองตักชิมดูก็เหมือนกับกำลังกินซุปก็อร่อยดี (ท่าทางจะใส่ผงชูรสมากไปหน่อย) มีความมัน และความหอมคงเนื่องจากข้าวฟืนนี้ทำมาจากถั่วนั่นเอง

เมื่อทดลองชิมข้าวฟืนเสร็จแล้วแต่ยังไม่รู้สึกอิ่ม ว่าจะสั่งอย่างอื่นมาลองอีกแต่ก็รู้สึกหวาดผวากับการเสพผง (ชูรส) ของผู้คนแถบภาคเหนือตอนบนเป็นอันมาก เพราะเท่าที่ได้เดินทางไปเที่ยวในแถบนั้นมาเห็นมาว่าบรรดาแม่ครัวล้วนประเคนผงลงไปไม่ต่ำกว่าช้อนใหญ่ ลงในอาหารทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่กาแฟ เขาว่ากันว่าถ้าไม่ใส่ “เก๋อหวาน” หรือผงนี้แล้วกินข้าวไม่อร่อย ก็คงจะแล้วแต่ความชอบ ในส่วนของราคาข้าวฟืนชามนี้ตกราคาชามละ 30 บาท ถือว่าราคาแพงมาก จะแพงเพราะเป็นอาหารที่หากินได้ยากในกรุงเทพฯ หรือแพงเพราะว่าขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากก็คงสุดจะคาดเดา แต่ถ้าคิดโดยทั่วไปว่าจะเอาเป็นอาหารที่กินเอาอิ่มในแต่ละมื้อคงไม่เหมาะ ถ้าจะเอาแบบลองชิมให้หายสงสัยอันนี้คงไม่ว่ากัน

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขบวนการแก้จน

ผลงานการ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ ปรมาจารย์นักเขียนการ์ตูนชื่อดังในวงการหนังสือพิมพ์ของเมืองไทยผู้ล่วงลับ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบกินอยู่อย่างไทยๆ ตลอดจนการประกอบอาชีพทำมาหากิน เป็นผลงานที่เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตของท่านที่ได้เก็บเกี่ยวมาตลอดเส้นทางชีวิต 78 ปี เป็นผลงานอันมากด้วยประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ์ตูนในชุดขบวนการแก้จนนี้

ขบวนการแก้จนตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2515 โดยลงตีพิมพ์สัปดาห์ละหกวัน เว้นวันอาทิตย์ เรื่อยมาจนถึงผู้เขียนท่านวายชนม์ในปี 2535

เอกลักษณ์ของการ์ตูนชุดขบวนการแก้จนนี้ ที่ท่านผู้เขียนต้องการเน้นให้กับผู้อ่านเสมอคือ เรื่องราวของการใช้ชีวิตแบบประหยัด, ไม่ฟุ้งเฟ้อ, การต่อสู้กับความยากจน และอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิต ต้องไม่ท้อแท้สิ้นหวังสามารถยืนหยัดใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ตามความคิดเห็นส่วนตัวแล้วรู้สึกชื่นชอบในลักษณะรูปแบบของตัวการ์ตูน และเนื้อหาที่มีเสน่ห์ โดยเฉพาะลายเส้นของตัวการ์ตูนเป็นการเขียนโดยการใช้พู่กัน หรือปากกาคอแร้งในการเขียน ทำให้ลายเส้นของตัวการ์ตูนดูมีน้ำหนักชัดเจน รวมถึงความแม่นยำเฉียบขาดในการเขียนที่ท่านผู้เขียนมีความจัดเจนเป็นอย่างมาก

ส่วนตัวเนื้อหาก็ใช้วิธีการเขียนด้วยลายมือของท่านผู้เขียนเอง โดยไม่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการยากมากที่จะทำเนื้อหาให้ผู้อ่านที่ติดตามเข้าใจได้ ในพื้นที่จำกัดที่มีพื้นที่ขนาดประมาณ 6”x7” เพียงเท่านี้ แต่ท่านผู้เขียนก็สามารถทำได้ดีทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การ์ตูนชุดขบวนการแก้จนนี้ จึงครองใจผู้อ่านได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

ประวัติคุณประยูร จรรยาวงษ์

นักเขียนการ์ตูนชื่อดังในวงการหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย ซึ่งมีผลงานระดับรางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2458 จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ขณะศึกษาได้มีโอกาสติดตามครูอบ ไชยวสุ เจ้าของนามปากกา “ฮิวเมอริสต์” ไปตามสำนักงานหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทำให้สนใจ และรักในงานเขียนการ์ตูน การ์ตูนยาวเรื่องแรกคือ "นิทานอีสป" ม.ล.ทองอยู่ เสนีย์วงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิสระ ซื้อไปในราคา 12 บาท แต่มิได้รับการตีพิมพ์ การ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงให้คือ "จันทะโครบ" ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษประชามิตร เมื่อ พ.ศ.2482 ที่ทำให้เกิดชื่อ “ศุขเล็ก” ขึ้น เพื่อล้อเลียนนักมวยดังในอดีตเจ้าของชื่อ “ศุขใหญ่” หรือสุข ปราสาทหินพิมาย นั่นเองคุณประยูร จรรยาวงษ์ คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาตลอด นับแต่หนังสือพิมพ์อโยธยา ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามนิกร และพิมพ์ไทย เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามสมัยรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง ก่อนย้ายมาที่สยามรัฐของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และไปอยู่ที่ไทยรัฐจนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2535
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกคือ การประกวดภาพเขียนการ์ตูนโลกที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2503 ชื่อภาพ “การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย” และรางวัลแมกไซไซ สาขาหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ.2514

นอกจากจะเฉียบคมในด้านการ์ตูนการเมืองแล้ว “ขบวนการแก้จน” ยังเป็นการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวแห่งประสบการณ์ชีวิต ดังที่ท่านผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ว่า
“ประสบการณ์ชีวิตบอกกับตัวเองว่า ความขยันหมั่นเพียรอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะเอาชนะความจนได้อย่างเด็ดขาด ฉะนั้นความจนจึงเป็นความจนที่น่ารักของผม ซึ่งผมเอาชนะมันได้ทุกวัน”

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วังเวียง สปป.ลาว

“วังเวียง” สปป.ลาว ชื่อนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในรูปแบบการผจญภัยไปในที่แปลกใหม่ ได้สัมผัสธรรมชาติที่ยังคงมีความสมบูรณ์ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างท้องถิ่น


ในอดีตเมืองวังเวียงเป็นเพียงทางผ่านในความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเยือนเมืองมรดกโลกที่หลวงพระบาง แต่ปัจจุบันเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขาแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากทางผ่านเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็อยากมาสัมผัส


สาเหตุที่วังเวียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวคือ “ภูมิศาสตร์” ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ “กุ้ยหลิน” ประเทศจีน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะพบกับคลื่นทะเลภูเขาสีเขียว ท่ามกลางไอหมอกสีขาวนวลลอยพาดผ่านไปตามซอกเขา มีสายน้ำซอง สายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองวังเวียงมาตั้งแต่อดีตกาล


นอกจากจะเปรียบเสมือนเมืองกุ้ยหลินที่ประเทศจีนแล้ว บรรยากาศของเมืองนี้ยังคล้ายกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย จนมีใครหลายคนขนานนามว่าเป็นเมืองคู่แฝด วังเวียงจึงเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวสไตล์แบ็กแพ็คเกอร์ (Backpacker) เสมอมา

ข้อมูลการเดินทาง
จากจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ข้ามฝั่งมายังนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วก็เรียกใช้บริการรถสามล้อให้ไปส่งที่ตลาดเช้าซึ่งเป็นท่ารถโดยสารประจำทาง โดยตัวเมืองวังเวียงตั้งอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์มาทางเหนือราว 160 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ราคาค่าโดยสารรถประจำทางประมาณ 30,000 กีบ/คน (120 บาท/คน) หรือถ้าชอบความสะดวกสบายก็สามารถใช้บริการรถตู้โดยสารให้ไปส่งถึงที่วังเวียงได้เลย โดยค่าโดยสารก็ตามแต่ตกลงกับทางเจ้าของรถตู้โดยสาร

แผนที่นครเวียงจันทน์
Link:
File name: Vientiane_Map.jpg File size: 5.86 MB

แผนที่เมืองวังเวียง

Link:
File name: Vangvieng_Map.jpg File size: 2.55 MB